ระเบียบสมาคม

โลโก้สมาคมฯ 

ข้อบังคับสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย

หมวดที่  1  ข้อความทั่วไป

ข้อ  1  ชื่อสมาคม :  สมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย

ชื่อภาษาอังกฤษ : NONGKHAI  ASSOCIATION  OF  THE  BLIND

ข้อ  2  สัญลักษณ์ของสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย  คือ  มีพญานาค 2 ตัว  โดยมีคนตาบอดยืนถือไม้เท้าอยู่ระหว่างกลาง

สัญลักษณ์ของสมาคมคน มีพญานาค 2 ตัว โดยมีคนตาบอดยืนถือไม้เท้าอยู่ระหว่างกลาง

ข้อ  3 ที่อยู่สมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย  ตั้งอยู่ที่ เลขที่  408/86  หมู่ที่  11  ตำบลหาดคำ  อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย  43000 โทรศัพท์/โทรสาร  042-083355  E-Mail: blind_nk@hotmail.com เว็บไซต์ http://www.nkab.or.th

หมวดที่  2  วัตถุประสงค์

ข้อ  4  สมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคายมีวัตถุประสงค์เพื่อ

4.1  ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาให้แก่คนตาบอดในจังหวัดหนองคาย

4.2  เป็นตัวแทนของคนตาบอดในจังหวัดในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม  และอาชีพอื่นๆ  ตามความถนัดและความประสงค์ของสมาชิกแต่ละราย  ตามนโยบาย กฎหมาย  ระเบียบเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

4.3  ช่วยเหลือด้านสวัสดิการอื่นๆ ภายใต้ระเบียบข้อบังคับสมาคมฯ

4.4  ส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนตาบอดในจังหวัดเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการประกอบอาชีพและการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างคนตาบอด

4.5  ร่วมมือกับองค์กรเอกชนคนตาบอดทุกระดับเพื่อสาธารณประโยชน์  ทั้งนี้ไม่จัดตั้งโต๊ะบิลเลียด  ไม่ดำเนินการใดๆ  เกี่ยวกับการพนันการหาผลกำไรมาบ่งปันกัน  ตลอดจนไม่ทำให้เสื่อมเสียศีลธรรม จารีต  ประเพณี  และวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ

4.6  ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนตาบอดได้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย  รวมถึงอาชีพการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกประเภทที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพิมพ์ออกจำหน่าย

4.7  เป็นตัวแทนขององค์กรคนตาบอดในการประสานและเสริมสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น

4.8  ให้คำแนะนำ  ปรึกษา  แก่สมาชิก  หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาของคนตาบอด

หมวดที่  3  สมาชิก

ข้อ  5  สมาชิกของสมาคมฯ มี 2 ประเภท

5.1  สมาชิกสามัญ

5.2  สมาชิกกิตติมศักดิ์  ได้แก่  บุคคลเพื่อทรงเกียรติหรือทรงคุณวุฒิ  หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมฯ  ซึ่งคณะกรรมการลงมติได้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ

ข้อ  6  สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ  ดังต่อไปนี้

6.1  เป็นคนตาบอดตามกฎหมาย  มีภูมิลำเนาในประเทศไทยอายุไม่ตำกว่า  15  ปี  บริบูรณ์ เกิด มีภูมิลำเนา เคยศึกษาหรือประกอบอาชีพอยู่ในจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของสมาคมแห่งนี้ไม่น้อยกว่า  2  ปี แต่ทั้งนี้สมาชิกสมาคมฯ จะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์จึงจะมีสิทธิเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ได้

6.2  เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

6.3  ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

6.4  ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย  หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถหรือต้องโทษจำคุก  ยกเว้นความผิดฐานประมาท  หรือลหุโทษ  การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯเท่านั้น

ข้อ  7  ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ

7.1  ค่าลงทะเบียนสมาชิก     50  บาท

7.2  ค่าบำรุงสมาคมฯ

    • ค่าบำรุงสมาคมฯ รายปี ปีละ 30 บาท
    • ค่าบำรุงสมาคมฯ ตลอดชีพ ปีละ 300 บาท

7.3  สมาชิกกิตติมศักดิ์มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ  8  การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ  ให้ผู้ประสงค์ที่เข้าสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ  ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมฯต่อเลขานุการ  โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย  1  คน  และให้เลขานุการจัดพิมพ์รายชื่อเป็นอักษรเบลล์ติดประกาศคู่กับตัวพิมพ์ปกติติดไว้  ณ  สำนักงานของสมาคมฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า  15  วันเพื่อให้สมาชิกอื่นๆ  ของสมาคมฯจะได้คัดค้านการสมัครนั้น  เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก(ถ้ามี)  เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า  จะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ  และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว  ผลเป็นประการใดให้เลขานุการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรเบลล์หรืออักษรปกติให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ  9  ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก  ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการและสมาชิกภาพของผู้สมัคร  ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ  ภายในเวลากำหนดก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ  10  สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์  ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคมฯ

ข้อ  11  สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุ ดังต่อไปนี้

11.1  ตาย

11.2  ลาออก  โดยยื่นหนังสือเป็นอักษรเบลล์พร้อมตัวพิมพ์ปกติต่อคณะกรรมการและคณะกรรมการได้รับพิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้ที่ยังค้างอยู่กับสมาคมฯ เป็นที่เรียบร้อย

11.3  ขาดคุณสมบัติสมาชิก

11.4  ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ  หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน  เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมฯ

ข้อ  12  สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

  • มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมฯโดยเท่าเทียมกัน
  • มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
  • มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
  • มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคมฯ
  • สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคมฯ  และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมคนละ  1  คะแนนเสียง
  • มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคมฯ
  • มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100  คน  ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการที่จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
  • มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของสมาคมฯ อย่างเคร่งครัด
  • มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ
  • มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ ของสมาคมฯ
  • มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมฯได้จัดให้มีขึ้น
  • มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมฯ ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่  4  การบริหารสมาคมฯ

ข้อ  13  สมาคมฯดำเนินงานโดยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

ข้อ  14  คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ  ให้มีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ โดยนายกสมาคมจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ  ซึ่งประกอบด้วยผู้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับของสมาคมฯ  ข้อ 6 มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน  แต่ไม่เกิน  15  คน   นายกสมาคมฯให้สมาชิกเป็นผู้เลือกจากสมาชิกที่มีอยู่ในที่ประชุมใหญ่  โดยนายกสมาคมต้องมีวุฒิการศึกษามัธยมตอนปลายหรือเทียบเท่า มีความสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารได้ดี และต้องเป็นสมาชิกของสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคายที่เกิดอยู่ในจังหวัดหนองคายโดยยึดตามใบสูติบัตรเป็นหลักเท่านั้น

ข้อ  15  ในวาระเริ่มแรกตำแหน่งในคณะกรรมการบริหาร  ให้นายกที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่โดยเลือกจากสมาชิกที่มีอยู่เป็นอุปนายก  เลขานุการ  เหรัญญิก  ประชาสัมพันธ์  ปฏิคม  และนายทะเบียน  ตลอดจนคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ  ตามความจำเป็นของสมาคมฯ  คณะกรรมการบริหารสมาคมฯอยู่ในตำแหน่งคราวละ  4  ปี

ข้อที่  16  การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ  ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมใหญ่เป็นมติที่ประชุม  ให้ผู้สมัครเป็นกรรมการบริหารเสนอรายชื่อของคณะบุคคลซึ่งประสงค์จะสมัครเข้ารับการเลือกตั้งต่อคณะกรรมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  30  วัน  ก่อนการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ

ข้อ  17  กรรมการสมาคมฯที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ  หรือโดยเหตุผลอื่นใดอาจรับเลือกเข้าเป็นกรรมการสมาคมฯได้อีก  เว้นแต่ตำแหน่งนายกสมาคมฯและเหรัญญิก  มิให้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน  2  วาระ

ข้อ  18  ถ้าตำแหน่งกรรมการสมาคมฯว่างลง  ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามข้อบังคับของสมาคมฯ  แทนตำแหน่งที่ว่างลง  กรรมการสมาคมฯที่ได้รับการแต่งตั้งซ่อมอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทน

ข้อ  19  กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง  ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้

19.1  ตาย

19.2  ลาออก

19.3  ขาดจากสมาชิกภาพ

19.4  ที่ประชุมลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ  20  กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ  ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อนายกสมาคมฯ  และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

หมวดที่ 5  อำนาจหน้าที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

ข้อ  21  ทำหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมของสมาคมตามวัตถุประสงค์ภายใต้ข้อบังคับนี้ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆดังนี้

21.1    กำหนดนโยบายของสมาคมฯและดำเนินงานตามนโยบายที่กำหนดไว้

21.2    ควบคุมการเงิน  ทรัพย์สินของสมาคมฯ

21.3    จัดทำรายงานการเงิน  บัญชีงบดุล รายรับ-รายจ่าย  เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย

21.4    นำมติของที่ประชุมใหญ่ไปดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ  ตามระเบียบการดำเนินงานของสมาคมฯ

21.5    แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่าง  ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

21.6    เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการบริหาร  หรือที่ปรึกษาของสมาคมฯ

21.7    มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯ

21.8    มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี  และประชุมใหญ่วิสามัญ

21.9    มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ  ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

21.10  มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมเอให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์  ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

21.11  มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจกรรมทั้งหมด  รวมทั้งการเงิน  และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคมฯ

21.12  มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ  ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน  1  ใน  3  ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมวิสามัญขึ้นภายใน  30  วัน  นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

21.13  มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ เป็นอักษรเบลล์และอักษรปกติทั้งที่เกี่ยวกับการเงินทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆของสมาคมฯให้ถูกต้อง  ตามหลักวิชาการ  และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกได้รับทราบ

21.14  จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ  ของสมาคมฯเพื่อเก็บหลักฐานและจัดส่งส่งสมาชิกได้รับทราบ

21.15  มีหน้าที่อื่นๆ  ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ  22  คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย  3 เดือน/ครั้ง  โดยให้จัดขึ้นภายในวันที่  20  ของทุกๆ เดือน  ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคมฯ

ข้อ  23  การประชุมคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด  จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  มติของที่ประชุมคณะกรรมการ  ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์  แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ  24  ในการประชุมคณะกรรมการถ้านายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม  หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  ก็ให้กรรมการที่เข้าร่วมประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง  เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมนั้น

ข้อ  25  คณะกรรมการบริหารสมาคมฯมีหน้าที่  ดังต่อไปนี้

25.1  นายกสมาคมฯ  เป็นประธานในการประชุมสมาคมฯ  สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการสมาคมหรือสมาชิก   เป็นผู้แทนของสมาคมฯ การลงลายมือชื่อในเอกสารอันเป็นหลักฐานของสมาคม  การแต่งตั้งผู้ทำการแทนเมื่อนายกสมาคมฯได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้

25.2  อุปนายก  ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมฯ ในการบริหารกิจการสมาคมฯ  ปฏิบัติตามหน้าที่ ที่นายกสมาคมฯได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมฯไม่อยู่  หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้  แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมฯให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้ทำการแทน

25.3  เลขานุการ  ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมฯทั้งหมดเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯในการปฏิบัติงานของสมาคมฯและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคมฯ  ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคมฯ

25.4  เหรัญญิก  มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคมฯ  เป็นผู้จัดการบัญชีรายรับ-รายจ่าย  บัญชชีงบดุลของสมาคมฯและเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสมาคมฯ

25.5  ปฏิคม  มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคมฯ  ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียนเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

25.6  นายทะเบียน  มีหน้าที่เกี่ยวกับนายทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมฯ  ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

25.7  ประชาสัมพันธ์  มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักเผยแพร่

หมายเหตุ : คณะกรรมการชุดแรกให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมฯ เป็นผู้เลือกตั้ง  ประกอบด้วย นายกสมาคมและกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคมฯ

หมวดที่  6  การประชุมใหญ่

ข้อ  26  การประชุมใหญ่ของสมาคมฯมี  2  ชนิด

26.1  ประชุมใหญ่สามัญ

26.2  ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ  27  คณะกรรมการ  จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1  ครั้ง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ข้อ  28  การประชุมใหญ่วิสามัญ  อาจมีได้โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า  1  ใน  3  ของสมาชิกสามัญทั้งหมด  หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า  100  คน  ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการจัดให้มีขึ้น

ข้อ  29  การแจ้งกำหนดการนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดวันประชุมใหญ่  ให้มีสมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรทั้งอักษรเบลล์และอักษรปกติ  โดยระบุวัน เวลา  และสถานที่ให้ชัดเจน  โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า  7  วัน  และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้  ณ  สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า  7  วัน  ก่อนถึงวันกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ  30  ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีจะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อย  ดังต่อไปนี้

30.1  แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

30.2  แถลงบัญชีรายรับ-รายจ่าย  และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกทราบ

30.3  เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่  เมื่อครบกำหนดวาระ

30.4  เลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

30.5  เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ  31  ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี  หรือการประชุมใหญ่วิสามัญ  จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด  จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาการประชุม  ยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม  ให้คณะกรรมการของสมาคมฯเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง  โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน  15  วัน  นับแต่วันประชุมครั้งแรกสำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้  ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม  ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก  ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่  ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ  32  การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่  ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์แต้ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติคะแนนเสียงเท่ากัน  ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ  33  ในการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ  ถ้านายกสมาคมฯและอุปนายก ไม่มาร่วมประชุมหรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้  ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่  7  การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ  34  การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ  เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นชอบ

ข้อ  35  การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมฯ  จะต้องมีลายชื่อของนายกสมาคมฯ หรือผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขานุการพร้อมกับประทับตราของสมาคมฯ จึงถือว่าใช้ได้

ข้อ  36  ให้นายกสมาคมฯมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมฯ  ได้ครั้งละไม่เกิน  50,000  บาท  ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับใบอนุมัติจากคณะกรรมการ  และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน  500,000  บาท  ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องจ่ายเกินกว่านี้  ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ

ข้อ  37  ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 10,000  บาท  ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมฯทันทีที่โอกาสอำนวย

ข้อ  38  เหรัญญิก  จะต้องทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย  และบัญชีงบดุล  ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ  การรับหรือการจ่ายเงินทุกครั้ง  จะต้องมีหลักฐานเป็นตัวหนังสือ  ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมฯหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก  หรือผู้ทำการแทนพร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ  39  ผู้สอบบัญชี  จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม  และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ  40  ผู้สอบบัญชี  มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคมฯได้

ข้อ  41  คณะกรรมการ  จะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่  8  การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคมฯ

ข้อ  42  ข้อบังคับของสมาคมฯ  จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น  และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ  จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า  2  ใน  3  ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ  43  การเลิกสมาคมฯ  จะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมฯ  ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย  มติของที่ประชุมให้เลิกสมาคมฯ  จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4  ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ  44  เมื่อสมาคมต้องเลิก  ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ  ก็ตาม  ทรัพย์สินของสมาคมฯที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ให้ตกเป็นของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์(องค์การสถานสาธารณกุศล ลำดับที่  174)

หมวดที่  9  บทเฉพาะกาล

ข้อ  45  ข้อบังคับฉบับนี้นั้น  ให้เริ่มใช้ข้อบังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมฯได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ  46  เมื่อสมาคมฯได้รับอนุญาต  ให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลทางราชการ  ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

 


ระเบียบสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย
ว่าด้วยระเบียบกองทุนสวัสดิการสมาชิก

หมวดที่ 1 ว่าด้วยระเบียบการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน
  1. ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสมาชิก คู่สมรส และบุตร
  2. สมาชิก หมายถึง สมาชิกสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย
  3. คู่สมรส หมายถึง คู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
  4. บุตร หมายถึง บุตรที่เกิดจากคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
  5. ให้สมาคมฯจัดตั้งกองทุนสวัสดิการให้สมาชิก คู่สมรส และบุตร โดยให้เปิดบัญชีเงินฝาก ใช้ชื่อบัญชีว่า กองทุนสวัสดิการสมาชิกสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย โดยให้การบริหารการเงินการบัญชี เป็นไปตามระเบียบของสมาคมฯ
  6. ให้อุปนายกฝ่ายสวัสดิการ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุน จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 7 คน โดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ 4 คน บุคคลภายนอก 3 คน ให้อุปนายกฝ่ายสวัสดิการเป็นประธานกองทุน เหรัญญิกเป็นกรรมการ โดยตำแหน่ง และให้คณะอนุกรรมการที่ได้รับจากการแต่งตั้ง มีอายุการทำงานเท่ากับคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  7. ระเบียบนี้จะประกาศใช้ได้ ต่อเมื่อผ่านการพิจารณาความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ หรือนับตั้งแต่วันที่นายกสมาคมฯ ประกาศใช้เป็นต้นไป
หมวดที่ 2 ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของกรรมการบริหารกองทุน
  1. ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกองทุนสวัสดิการนอกเหนือจากงบประมาณประจำปีที่ทางสมาคมฯกำหนดให้
  2. เสนองบประมาณและแผนงานประจำปีเพื่อขออนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ
  3. กำหนดนโยบายและจัดสรรงบประมาณประจำปีให้กองทุนสวัสดิการ
  4. รับพิจารณาคำร้องขอรับสวัสดิการจากสมาชิกสามัญและวิสามัญ การพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนถือว่าเป็นที่สุด
  5. แต่งตั้งผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีกองทุนโดยให้เป็นไปตามระเบียบสมาคมฯ รับทราบอย่างสม่ำเสมอ
หมวดที่ 3 ว่าด้วยการพิจารณาคุณสมบัติสมาชิกผู้มีสิทธิ์รับสวัสดิการ
  1. ให้พิจารณาตามรายชื่อสมาชิกที่ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี เว้นแต่สมาชิกผู้มีเหตุจำเป็นให้ทำหนังสือลาการประชุม เป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าหน้าที่สมาคมฯก่อนวันประชุมอย่างน้อย 3 วัน มิฉะนั้นสมาชิกคู่สมรส หรือบุตร ไม่มีสิทธิใช้สวัสดิการตามระเบียบนี้
  2. ต้องเป็นสมาชิกสมาคมฯมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยให้นับแต่วันออกบัตรเป็นต้นไป
  3. สมาชิกรายปีต้องเป็นผู้ไม่ติดค้างชำระค่าบำรุงสมาคมฯ
  4. สมาชิกผู้ยื่นคำขอรับสวัสดิการต้องนำเอกสารหลักฐาน ใบเสร็จฉบับจริง จากแพทย์พร้อมทั้งบัตรสมาชิกหรือสำเนาบัตรสมาชิกถ่ายหน้า – หลัง มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สมาคมฯ และคณะกรรมการกองทุนทุกครั้ง ในกรณีที่ สมาชิกไม่สะดวกมารับสวัสดิการด้วยตนเองให้ผู้แทนนำใบมอบอำนาจใบเสร็จฉบับจริงจากแพทย์ และสำเนาบัตรสมาชิก มารับได้ภายใน 90 วัน
  5. ในกรณีที่สมาชิกผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดไม่สะดวกในการเดินทางมารับสวัสดิการด้วยตนเอง ให้ส่งเอกสารหลักฐาน ใบเสร็จฉบับจริงจากแพทย์ แนบด้วยสำเนาบัตรสมาชิก ถ่ายหน้า-หลัง พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือ และระบุหมายเลขบัญชีธนาคาร สาขาที่ท่านมีเงินฝาก ทางสมาคมฯจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับสมาชิก โดยหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการโอนเงิน หรือในกรณีที่สมาชิกผู้ไม่มีบัญชีเงินฝาก ให้แจ้งชื่อ – นามสกุล ที่อยู่ให้ชัดเจน พร้อมระบุที่ทำการไปรษณีย์ปลายทาง แล้วส่งมาที่สมาคมฯ
  6. บุคคลใดที่มีคุณสมบัติ ใช้สวัสดิการตามระเบียบว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสมาชิกฉบับนี้ ถ้ามีเจตนาทุจริตในการใช้กองทุนสวัสดิการใดๆ ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาลงโทษ ตัดสิทธิ์ใช้สวัสดิการเป็นเวลา 2 ปี และให้ส่งรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนประจำเดือนทุกครั้ง
  7. ในกรณีที่สมาชิก ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพ เช็คร่างกาย อัลตราซาวด์ ตรวจเลือด ขูดหินปูน ดัดฟัน ใส่ฟันปลอม ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาพยาบาล ไม่สามารถใช้สวัสดิการตามระเบียบนี้
หมวดที่ 4 ว่าด้วยทุนการศึกษา สมาชิก คู่สมรส และบุตร

1.ทุนการศึกษาหมายถึง ทุนที่ช่วยเหลือสมาชิก คู่สมรส และบุตร สมาชิกที่ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาโดยจัดสนับสนุนปีการศึกษาละ 1 ครั้ง ผู้ขอรับทุนต้องนำหลักฐาน ได้แก่

    1. แบบฟอร์มขอทุนการศึกษาของสมาคมฯที่มีลายเซ็นจากอาจารย์ในสถาบันการศึกษานั้น
    2. สำเนาบัตรสมาชิกของผู้ที่ยื่นขอรับทุน ถ่ายหน้า – หลัง พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือ
    3. สำเนาสูติบัตร หรือสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับทุนการศึกษา

มาแสดงต่อคณะกรรมการกองทุน โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้

    1. ระดับอนุบาลศึกษา 5 ทุน ทุนละ 800 บาท
    2. ระดับประถมศึกษา(ป.1 – ป.6) 5 ทุน ทุนละ 1,000 บาท
    3. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น(ม.1 – ม.3) 10 ทุน ทุนละ 1,200 บาท
    4. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(ม.4 – ม.6) 10 ทุน ทุนละ 1,400 บาท
    5. ระดับอุดมศึกษา 15 ทุน ทุนละ 1,800 บาท

ในกรณีที่สมาชิกและบุตรสมาชิกใช้สิทธิ์ยื่นขอทุนมากกว่าที่กำหนดไว้ คณะกรรมการกองทุนอาจใช้วิธีจับสลาก หรือเรียงตามลำดับลำดับการยื่นเอกสาร หรืออาจใช้การเฉลี่ยทุนให้ได้รับเท่าๆ กันก็ได้

2. ทุนรักษาพยาบาล หมายถึง ทุนช่วยเหลือสมาชิก คู่สมรส และบุตร ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อต้องไปรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาลของรัฐ เอกชน หรือคลินิก สมาชิกจะได้รับสวัสดิการไม่เกิน 2,000 บาท/ปี

3. ทุนสมาชิกผู้ประสบความเดือดร้อนเฉพาะหน้า หมายถึงทุนที่ช่วยเหลือสมาชิกผู้ประสบอุบัติเหตุ เช่น สาธารณะภัย อุบัติภัย วาตะภัย อัคคีภัย สมาชิกจะต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบภายใน 30 วัน พร้อมแสดงหลักฐาน ที่เชื่อถือได้ เช่น รูปถ่าย ใบแจ้งความจากสถานีตำรวจ เป็นต้น สมาชิกจะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือ รายละไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง

4. ทุนช่วยเหลือในการคลอดบุตร หมายถึง ทุนที่ช่วยเหลือสมาชิกและคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เท่านั้น สมาชิกจะได้รับทุนช่วยเหลือรายละ 1,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งสมาชิกจะต้องนำใบสูติบัตรของเด็กมาแจ้งเจ้าหน้าที่สมาคมฯ หรือคณะกรรมการบริการกองทุน ภายใน 90 วัน

5. ทุนช่วยเหลือฌาปณกิจศพ หมายถึง ทุนที่ช่วยเหลือเมื่อสมาชิกหรือคู่สมรสและบุตรสมาชิก เสียชีวิต โดยจะมอบทุนให้ญาติ โดยญาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ทราบภายใน 90 วัน พร้อมแสดงสำเนาใบมรณะบัตรญาติ สมาชิก คู่สมรส จะได้รับทุนช่วยเหลือรายละ 3,000 บาทต่อครั้ง ในกรณีที่สมาชิกของสมาคมฯ เป็นสมาชิกของกองทุนฌาปณกิจสงเคราะห์ สมาคมฯจะสมทบทุนฌาปณกิจเพิ่ม 2,000 บาท รวมเป็น 5,000 บาท และหากบิดามารดาของสมาชิกเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 1,500 บาท

หมวดที่ 5 ความทั่วไป

1. กองทุนสวัสดิการมาจาก

  1. กราบริจาค ขององค์กร หน่วยงาน และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป
  2. การจัดกิจกรรมหารายได้
  3. ดอกเบี้ยบัญชีเงินฝาก

2. รายจ่ายกองทุนสวัสดิการ มีดังนี้

2.1 รายจ่ายที่เป็นกองทุนสวัสดิการตามหมวดที่ 4

2.2 รายจ่ายในการบริหารงานของกองทุนสวัสดิการ

3. ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ระเบียบนี้ ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารถือว่าเป็นที่สุด

4. ให้อุปนายกฝ่ายสวัสดิการ เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

5. บทเฉพาะกาล
เนื่องจากทางสมาคมฯยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงให้งดใช้ระเบียบ ข้อ 4 หมวดที่ 4 ไปก่อน

ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม 2566

(นายวิกร บุญโสม)

นายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดหนองคาย